สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1622  พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔

วรรคสอง แต่พระภิกษุนั้น อาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5587/2543 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 นั้น หมายถึงกรณีที่เจ้ามรดกตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ และพระภิกษุเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิในการรับมรดกด้วย ได้ฟ้องทายาทคนอื่น ๆ ขอแบ่งมรดก แต่โจทก์ได้รับการยกให้ซึ่งบ้านและที่ดินจาก ล. ในขณะที่ ล. มีชีวิตอยู่โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าว การฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินของโจทก์จึงมิใช่ฟ้องเรียกร้องเอาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม แม้โจทก์จะเป็นพระภิกษุก็ย่อมมีอำนาจฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2535 โจทก์ฟ้องว่าหลังจาก ห. ตาย โจทก์และ ล. ได้รับมรดกที่พิพาทและร่วมกันครอบครองโดยมิได้แบ่งแยก ต่อมาโจทก์ไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และ ล. ตาย จำเลยซึ่งเป็นบุตรของ ล. ไปขอออกน.ส. 3 ก. เป็นของตนฝ่ายเดียว ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยแบ่งที่ พิพาทให้ เป็นกรณีโจทก์ฟ้องในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าของรวมมิใช่ ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมเรียกร้องเอาทรัพย์มรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1622เพราะเมื่อ ห. ตาย โจทก์ และ ล. ได้รับมรดก มาแล้ว ที่พิพาทจึงมิใช่มรดกของ ห.อีกต่อไป แต่เป็นทรัพย์สินร่วมกันของโจทก์และ ล.เมื่อจำเลยไม่ยอมแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ในกรณีเช่นนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง แม้โจทก์จะเป็นพระภิกษุก็ไม่มีกฎหมายห้ามฟ้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1026/2519 ที่พิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองและพระภิกษุ ส. ผู้เป็นทายาท และนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่พิพาทจากจำเลยยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ยังอยู่ภายในอายุความที่พระภิกษุ ส. จะสึกจากสมณเพศมาเรียกร้องขอแบ่งได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 ดังนี้ ต้องแบ่งที่พิพาทออกเป็น 5 ส่วน โจทก์ได้คนละ 1 ใน 5

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 341/2495 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622 เป็นบทบัญญัติห้ามมิให้พระภิกษุเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมแต่ถ้าพระภิกษุถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้วศาลก็พิพากษาให้พระภิกษุได้รับส่วนแบ่งมรดกด้วย ก็ไม่เป็นการขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1622